loader

?ดีอีเอส-ดีป้า? ร่วมแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย SMEs จับมือ ?กรมสรรพากร? ดันมาตรการภาษี 200% สนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ ยกระดับธุรกิจ ปรับตัวยุคชีวิตวิถีใหม่


ลงวันที่ :: 19 พฤษภาคม 2564 จำนวนผู้เข้าดู :: 765

 

“ดีอีเอส-ดีป้า” ร่วมแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย SMEs
จับมือ “กรมสรรพากร” ดันมาตรการภาษี 200%
สนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ ยกระดับธุรกิจ ปรับตัวยุคชีวิตวิถีใหม่

14 พฤษภาคม 2564, กรุงเทพมหานคร - กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการ SMEs ในยุคโควิด-19 หลังจับมือ กรมสรรพากร ดันมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (มาตรการภาษี 200%) ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมมีมติอนุมติหลักการให้ SMEs หักค่าใช้จ่ายที่จ่ายเป็นค่าซื้อหรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือค่าใช้จ่ายการใช้บริการโปรแกรมบริการ จากผู้ประกอบการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานฯ เผยเตรียมพร้อมออกหลักเกณฑ์การรับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงผู้ให้บริการโปรแกรมบริการที่ต้องการเข้าสู่มาตรการฯ แล้ว

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. ... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล) เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล* จำนวนรวม 200%** ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) หรือค่าใช้จ่ายการใช้บริการโปรแกรมบริการ (Software as a Service: SaaS) ที่ผู้ใช้สามารถเรียกใช้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตได้ตามความต้องการใช้งาน จากผู้ประกอบการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

จากกรณีดังกล่าว ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และขยายขีดความสามารถทางการแข่งขัน ผ่านนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมบริการ โดยมอบหมายให้ ดีป้า บูรณาการการทำงานกับ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง พร้อมเร่งประกาศหลักเกณฑ์การรับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการที่ต้องการเข้าสู่มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

“ขณะเดียวกัน มาตรการดังกล่าวจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความประสงค์จะนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมบริการที่ได้มาตรฐานมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหา พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมรองรับชีวิตวิถีใหม่ ก่อนก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต และจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการเข้าสู่มาตรการฯ และขึ้นทะเบียนกับ ดีป้า อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพิ่มขึ้น” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีจะต้องเลือกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือบริการโปรแกรมบริการจากผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับ ดีป้า เท่านั้น โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ ดีป้า ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Provider) และมีมาตรฐาน ISO29110 และ CMMI จำนวนกว่า 100 ราย ซึ่งขณะนี้ยังเปิดรับผู้ประกอบการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และผู้ให้บริการโปรแกรมบริการที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ผ่านระบบฐานข้อมูลที่ www.depa.or.th/tax200

สำหรับประเภทและลักษณะของโปรแกรมคอมพิวเตอร์และโปรแกรมบริการที่สามารถใช้สิทธิได้ ประกอบด้วย
1. ERP (โปรแกรมบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร)
2. CRM (โปรแกรมบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า)
3. POS (โปรแกรมบริการ ณ จุดขาย)
4. MRP (โปรแกรมบริหารจัดการและวางแผนการผลิต)
5. Account (โปรแกรมบัญชี)
6. Personnel (โปรแกรมบริหารงานบุคคล)
7. Logistics (โปรแกรมบริหารการขนส่ง)
8. Inventory (โปรแกรมบริหารงานคลังสินค้า)
9. Service Management System (โปรแกรมบริหารงานบริการ)
10. AI Software (โปรแกรมที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์)
11. Data Analytics (โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล)
12. IoT System (ชุดโปรแกรมอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง)
13. Smart Farm (โปรแกรมบริหารจัดการฟาร์มอัจฉริยะ)
14. e-Payment System (ชุดโปรแกรมชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์)

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ได้ทาง www.depa.or.th/tax200

---------------------------------------------------------------------

* บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
** เงื่อนไขยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรการฯ จำนวนรวม 200% 
1. รายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท 100% แรก หักค่าซื้อ ค่าจ้าง + ค่าเสื่อม รวมเป็น 200%
2. ค่าใช้จ่ายการใช้บริการโปรแกรมบริการ (Software as a Service: SaaS) เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท หักค่าบริการ รวมเป็น 200%

 


ADMIN ATSI


Association of Thai Software Industry

ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้มีศักยภาพ และมาตรฐานที่สามารถแข่งขันกับซอฟต์แวร์ต่างประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สนับสนุนการลงทุนด้านธุรกิจซอฟต์แวร์จากภายในและจากภายนอกประเทศ โดยอำนวยความสะดวกและการให้บริการต่างๆ อย่างเต็มที่ ชักจูงให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีจากด้านอื่น จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลกมายังประเทศไทย เสริมสร้างให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินการผลิตและพัฒนา ซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพ และมีผลผลิตสูงขึ้นเพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ตลอดจนเพียงพอกับความต้องการเพื่อการส่งออกในอนาคต ส่งเสริมวิชาชีพและการพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ทุกระดับให้กว้างขวางและปฏิบัติงานได้จริง

Facebook ATSI